วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รมว.ศธ.ได้เน้นถึง ๒๙ นโยบายหลักด้านการศึกษาของ ศธ.


ศึกษาธิการ - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

รมว.ศธ.กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า เป็นการประชุมนโยบายและการปฏิบัติของ ศธ.ซึ่งได้เน้นย้ำถึง ๒๙ นโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ โดยนโยบายที่สำคัญคือ ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง คือ ดูแลลูกหลานของพี่น้องประชาชนเหมือนลูกหลานของเรา และดูแลครูอาจารย์เหมือนพี่น้องของเรา จึงฝากผู้บริหารถึงแนวทางการทำงานว่า อย่าโกงเงินทอง โกงด้วยอำนาจหน้าที่ หรือพยายามหาเรื่องใส่ร้ายผู้อื่น สำหรับตนจะไม่กลั่นแกล้งรังแกใคร แต่จะดูแลการทำงาน แม้แต่ช่วงการโยกย้าย ซึ่งแม้อาจจะมีการปรับเปลี่ยน แต่ก็จะเป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม และจะไม่ยอมให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในกระทรวงโดยไม่สมเหตุสมผล ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เป็นกระทรวงศึกษาธิการไทยใสสะอาด

พร้อมนี้ได้ประกาศในที่ประชุม โดยขอให้ผู้บริหาร ศธ.เร่งขับเคลื่อนในเรื่องนี้ โดยนำระบบคุณธรรม จริยธรรม เข้ามาสู่ในวงการศึกษา ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น นำครูอาจารย์ ผู้บริหาร นักเรียนนักศึกษาเข้าวัด หรือปฏิบัติธรรมในระยะเวลา ๓-๕ วัน โดยครูสามารถนำการอบรมธรรมะมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำและประเมินผลงานต่างๆ ได้ ส่วนนักเรียนอาชีวะที่มีปัญหา ก็ควรให้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ ดังนั้นหลักใหญ่ๆ ที่จะดำเนินการคือ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและเน้นความโปร่งใสในการบริหารงานบุคคล รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้เน้นถึง ๒๙ นโยบายหลักด้านการศึกษาของ ศธ. ว่าขอให้ช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน (เน้นตัวสีแดง) ดังนี้

๑) ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
ดูแลลูกหลานประชาชนเหมือนลูกหลานของเรา จัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนทั้งภาคเมืองและชนบท ปั้นนักศึกษาไทยให้เป็นมืออาชีพ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย

๒) ปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ : Transparency and Accountability การบริหารงานบุคคลที่โปร่งใส  ร่วมรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของลูกหลานไทย

๓) ปรับเลื่อนวิทยฐานะ โยกย้ายครูด้วยความเป็นธรรม  สอบแข่งขัน วัดความสามารถด้วยตนเอง ไร้เส้นสายฝากฝัง

๔) สอบ O-NET ป.๖ ม.๓ ม.๖ ทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา วัดผลแต่ละช่วงชั้นประกันคุณภาพการศึกษา นำผลไปใช้เพื่อศึกษาต่อ เชื่อมโยงการปฏิบัติงานของครูผู้สอน เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

๕) กระทรวงศึกษาธิการไทยใสสะอาด  สร้างความโปร่งใสในการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ  ให้ปราศจากทุจริตคอรัปชัน

๖) ปฏิบัติธรรม นำการศึกษา  แก้ปัญหายาเสพติด ขจัดทุจริตคอรัปชัน

๗) แท๊ปเล็ตพีซี เพื่อการศึกษา  สำหรับนักเรียน ป.๑ และ ม.๑ ทุกคน  เติมภูมิปัญญาด้วยเทคโนโลยี มีความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

๘) เรียน ม.๖ จบ ได้ใน ๘ เดือน  เรียนในเวลา และนอกเวลา เพื่อก้าวทันโลก และทันลูกหลาน

๙) กองทุนตั้งตัวได้  เงินทุนขั้นต้น สำหรับนักศึกษา พร้อมเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต

๑๐) ๑ อำเภอ ๑ ทุน  ทุนการศึกษาสานฝันให้เด็กเก่งทุกอำเภอ เรียนต่อต่างประเทศ

๑๑) สื่อสารภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคม ASEAN  ๘๐% ของนักเรียนทั้งประเทศ พูดภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘

๑๒) เรียนดีอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม.๖  รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ฟรี ค่าเล่าเรียน ฟรี ค่าเครื่องแบบ ฟรี ค่าอุปกรณ์การเรียน ฟรี ค่าหนังสือเรียน  ฟรี ค่ากิจกรรม

๑๓) สร้างผู้นำอาเซียน ASEAN Leaders Scholarship  เพิ่มทุนการศึกษาแก่นักศึกษาอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมเป็นผู้นำในภูมิภาค

๑๔) ทุนการศึกษาเพื่ออนาคต (กรอ.) Income Contingency Loan   โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง ส่งคืนเมื่อมีรายได้

๑๕) ครูมืออาชีพ  ฝันอยากเป็นครูได้เป็นครู จบแล้วมีงานทำ มั่นคงในชีวิต ร่วมสร้างลูกหลานไทยให้เฉลียวฉลาด

๑๖) ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix-it Center ศูนย์บริการซ่อมสร้าง ๒๐,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ ฝึกฝนช่างฝีมือ ให้บริการประชาชน

๑๗) การศึกษาดับไฟใต้ จัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้  โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และผู้นำในพื้นที่

๑๘) ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน OTOP Mini MBA  ฝึกอาชีพ เพิ่มพูนทักษะ คิดเป็น ผลิตเป็น ส่งออกต่างประเทศ เพิ่มรายได้แก่ครอบครัว

๑๙) เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ  สร้างการศึกษาให้แข็งแกร่ง เพื่อแข่งขันในประชาคม ASEAN

๒๐) อัจฉริยะสร้างได้  ส่งเสริมให้เด็กเก่ง เด็กฉลาด พร้อมเป็นผู้นำประเทศในทุกสาขา

๒๑) สร้างพลังครู    แก้ปัญหาหนี้สิน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างโอกาส

๒๒) สร้างหลักสูตรคิดเป็น ทำเป็น  ลดหลักสูตรท่องจำ รู้ด้วยความเข้าใจ ใช้ปัญญา จินตนาการอย่างไม่สิ้นสุด

๒๓) Internet ตำบล และหมู่บ้าน ค้นหาความถนัดตนเอง เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา

๒๔) คูปองสร้างเสริมอัจฉริยะ คูปองแลกหนังสือ ให้โอกาสเยาวชน เลือกหนังสือตามความพอใจ

๒๕) เทียบโอนประสบการณ์สายอาชีพ จบ ปวช.ได้ใน ๘ เดือน

หลักสูตรเทียบโอนเรียนเข้มระยะสั้น เทียบโอนความรู้ทักษะประสบการณ์สายอาชีพ

๒๖) โรงเรียนร่วมพัฒนา รวมพลังครู นักเรียน เพื่อความแข่งแกร่งทางวิชาการ
พร้อมสื่อการสอนสมัยใหม่ ยานพาหนะรับส่ง

๒๗) ศูนย์อบรมอาชีวศึกษา  พัฒนาอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน
เรียนรู้ประสบการณ์ก่อนไปประกอบอาชีพ

๒๘) ตั้งสถาบันอาชีวศึกษาเพื่อความเป็นเลิศในการเรียนสายอาชีพ ปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เติมเต็มความรู้ คู่ความเชี่ยวชาญในอาชีพ

๒๙) โรงเรียนในโรงงาน โรงงานในโรงเรียน เรียนรู้จริงในสถานประกอบการ ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วได้งานทำ

รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงการร่างกฎระเบียบต่างๆ ของ ศธ.ด้วยว่า ต่อไปควรร่างกฎระเบียบให้น้อยลง เพื่อไม่ให้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เราร่างขึ้นมา ไปจำกัดให้การทำงานต่างๆ ช้าจนเกินไป โดยย้ำให้ร่างกฎระเบียบโดยมองไปที่ผู้ใช้ระเบียบ ไม่ใช่ร่างขึ้นมาเพื่อ ศธ.

บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
http://www.moe.go.th/websm/2012/jul/187.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น