วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นี่จะเป็นเหตุของการล้มเหลวของการจัดการเรียนการสอน จริงหรือ

มีเรื่องของพฤติกรรมการการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งเป็นเรื่องหลักปฏิบัติพื้นฐานของกรอบภาระหน้าที่ครูผู้สอน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  นั่นคื่อเรื่องที่ง่ายที่สุดที่ผมต้องการเป็นประเด็นสำคัญวันนี้  คือ ครูเราไม่ค่อยสอนหนังสือ  ผมใช้คำโบราณนะครับ เดี๋ยวจะมีนักเวิฃาการมาบอกว่า ปัจจุบันเค้าไม่สอนหนังสือกันแล้ว เค้าเรียกว่า จัดประสบการณ์ หรือกระบวนการเรียนรู้ อะไรก็แล้วแต่ แต่ผมใช้คำว่า สอนหนังสือแล้วกัน   เหตุการณ์อย่างนี้ไม่ใช่มีอยู่ที่โรงเรียนนี้โรงเรียนเดียวนะครับ    ตั้งแต่ผมมีชีวิตสัมผัสกับความเป็นครูมากว่า 30 ปี ก็ยังได้เห็นและประมวลผลว่าเป็นเช่นว่านี้จริง ๆ  สมัยก่อนนี้เกินว่า 20 ปีมาแล้ว เคยคุยกันในกลุ่มเพื่อนครูวิชาการด้วยกัน มีท่านครูเก่าท่านหนึ่ง บอกว่า ให้ครูสอนนักเรียนให้เต็มที่วันละ 3 ชั่วโมง นักเรียนเก่งตาย (ห่...)    หรือว่าคำนั้นจะเป็นจริง  ผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนรัฐบาลมา 20 กว่าปี เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องให้ความสำคัญในการกำกับดูแล การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนให้สม่ำเสมอ สิ่งที่พบเห็นเป็นประจำได้แก่
  1. ไม่พบครูอยู่ในห้องเรียน พบว่าครูเข้าห้องสอนช้ามากไม่ตรงเวลา คุณครูไปไหน นักเรียนเสียงดัง พูดจาหยาบคาย ห้องเรียนเลอะเทอะ  ทั้งที่ ครูมาปฏิบัติราชการปกติ  โรงเรียนไม่มีกิจกรรมพิเศษใด ๆ สิ่งที่พบเห็นลักษณะเช่นนี้บ่อยครั้งมาก จนรู้สึกว่ามันไม่น่าเป็นเช่นนี้
  2. ครูไม่ตรวจการบ้าน สมุดงาน และผลงานของ นักเรียนไม่ได้รับการตรวจ การแนะนำแก้ไขตามควรแก่หลักการจัดการเรียนการสอน
  3. มากกว่า 80 % ที่เห็นคุณครู นั่งอธิบายอยู่ที่โต๊ะครูเป็นหลัก และจัดกิจกรรมให้นักเรียน อ่าน อ่าน และอ่าน มีแต่ร่างครูที่หมดวิญญาณของความเป็นครู  โดยไม่ได้สนใจบริบทแห่งเนื้อหาสาระนั้น มันควรจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ที่มีตัวอย่างที่ได้ไปอบรมศึกษามามากมาย แต่ไม่ใส่ใจที่จะนำมาใช้
  4. สภาพห้องเรียน สกปรกเลอะเทอะมาก ไม่พบความมีระเบียบแม้แต่กระทั่งโต๊ะครู
  5. วัสดุครุภัณฑ์ ในห้องเรียน ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งน่าจะเกิดจากการไม่มีข้อตกลงในการใส่ใจดูแล ในสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องใช้ร่วมกัน
เอาเป็นว่า 5 ข้อข้างต้นที่ได้นำมาเขียนนี้ ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องการบอกว่า สิ่งที่ผมเห็นในปัจจุบันมีความเห็น เละเห็นเช่นนี้   ทำให้ย้อนคิด และคิดเลยไปถึงเรื่องหลากหลายในวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครูทั้งระบบ  ทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน การปรับปรุงหลักสูตร การปฏิรูปการศึกษารอบ2 รอบ3 และรอบอะไรก็แล้วแต่   มันคงจะสำหเร็จลงไม่ได้  เพราะสมรรถนะพื้นฐานของความเป็นครุ จิตสำนึกของคร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่  และความมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ของทุกคนที่เป็นครู ยังไม่มีมาตรฐานที่ดีพอ
ที่เขียนลงมาทั้งหมดอ่านแล้วก็คงจะเกิดความรู้สึกไปต่าง ๆ นานา ใช่ว่าครูทั้งหมดของที่นี่จะเป็นอย่างที่ยกตัวอย่างมา ข้างต้น  คุณครูที่ดี ตั้งใจสอน รับผิดชอบงาน ที่ผมใช้คำว่า สามารถรักษาหน้าที่ของความเป็นครูอย่างน่าศรัทธา นั่นคือ คุณครุที่มีจริยวัตรปฏิบัติตรงข้ามกับที่ผมยกตัวย่างแล้ว จึงนับว่าเป็นครูที่สมบูรณ์พร้อม และเป็นบุคคลที่ขอเคารพยกย่องชมเชยมา ณ ที่นี้เช่นกัน  จึงไม่ได้เหมารวมว่าจะแย่มากไปเสียทุกคน
จึงต้องการให้พวกเราทุกคน ได้หมั่นตรวจสอบ หน้าที่ของความเป็นครูของทุกคน ว่าจะครองความเป็นครูที่สมบูรณ์  ได้หมั่นตรวจสอบ และจัดลำดับความสำคัญของงาน สร้างมูลค่าเพิ่มของงาน นั่นคือ การเพิ่มมูลค่าศักยภาพในการปฏิบัติงานของตัวเอง เพิ่มมูลค่าของนักเรียน อันเป็นผลผลิตของเรา ด้วยการเสริมสร้างกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
วันนี้เราจะพัฒนาการศึกษา เราจะต้องสร้างระบบประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็ง นักวิชาการ มือปฏิรูปทั้งหลาย กำลังเอาทฤษฎีการบริหารมากมายสู่การพัฒนาการบริหารและการจัดการเรียนการสอน  ผมเห็นหลายโรงเรียนที่ผู้บริหารตาลุกวาวเมื่อได้ฟังวิทยากรระดับด็อกเตอร์ บอกว่า พร้อมจะไปให้ความรู้เรื่องทฤษฎีการจัดการเรียนการสอนใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวนักเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเรา โดยไม่คิดค่าตัว (ค่าตัวด็อกเตอร์ระดับวิทยากรเชี่ยวชาญงานค่าตัวบรรยาย 6 ชั่วโมง คิดเล่น ๆ แค่ 20,000 บาทต่อวัน)   ผมเห็นผู้บริหารหลายโรงเรียนรีบเข้าไปติดต่อเพื่อจัดการอบรมให้กับครูในโรงเรียนตัวเอง  ผมดูแล้วก็รู้สึกตาลุก ตาวาวเหมือนกัน อยากขอวิทยากรท่านนี้มาจัดการอบรมให้ครูในโรงเรียนบ้าง จะได้ทันสมัยและรู้ก่อนใคร  แต่มาคิดดูแล้ว  เราจะต่อยอดต้นไม้ทั้งที่รากเดิมยังไม่แข็งแรงได้อย่างไร เฮ้อ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น